วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ฉลามครีบเงิน (สุภาพบุรุษแห่งโลกสีคราม)*
สำหรับฉลามสองตัวแรกที่ผมกล่าวถึงไป หากคุณลองไปดูรูปอาจสงสัยว่านี่น่ะหรือฉลาม เพราะเขามีหน้าตาผิดไปจากอุดมคติของพวกเราไม่น้อย แต่สำหรับเจ้าตัวนี้ ฉลามครีบเงินหรือ Silvertip shark (Carcharhinus albimarginatus ) ใครเห็นก็ต้องบอกว่านี่แหละฉลาม ทั้งครีบ ทั้งหาง ทั้งท่าว่ายน้ำของเขามันฉลามไปเสียทุกอย่าง จากการที่ฉลามครีบเงินมีหน้าตาเหมือนกับฉลามในความคิดของเรา ทำให้หลายคนสงสัยว่าแล้วจะแยกเขาออกจากฉลามอื่นได้อย่างไร เทคนิคนั้นง่ายมากโดยสังเกตที่ครีบของเขา ตรงปลายจะมีสีขาวอยู่ทั้งครีบหลัง ครีบอก และครีบหาง บางตัวบริเวณส่วนท้ายของครีบหลังจะมีแถบสีขาว แตกต่างไปจากฉลามหูขาวหรือครีบขาว ที่จะมีจุดขาวเฉพาะปลายครับหลังและครับหาง




เจ้าครีบเงินเป็นฉลามที่มีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก ตัวเต็มวัยยาวประมาณ 3 เมตร ส่วนพวกแรกเกิดขนาดยาวประมาณ 50-80 เซนติเมตร พี่น้องท้องเดียวกับเขาจะมีประมาณ 5-6 ตัว พอเขาเกิดปุ๊ปก็จะหากินในเขตน้ำตื้น เมื่อเติบใหญ่ขึ้นพวกเขาจะลงไปหากินบริเวณที่ลึก ส่วนใหญ่จะประมาณ 40 เมตรหรือมากกว่า บางครั้งมีรายงานว่าเขาสามารถลงไปได้ลึกถึง 400 เมตร ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ค่อยพบฉลามครีบเงิน ในเกาะแก่งของเมืองไทย ส่วนใหญ่ที่เราเจอคือหมู่เกาะสิมิลัน ตาชัย หรือบริเวณกองหินที่ห่างไกลจากชายฝั่งข้อแตกต่างประการหนึ่ง ระหว่างฉลามครีบเงินกับฉลามสองชนิดที่ผมกล่าวถึง คือเจ้านี่ไม่ชอบนอนตามพื้นท้องทะเล พวกเขาจะว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา อาหารของฉลามครีบเงินคือ ปลาทุกชนิดครับ ไม่ว่าจะเป็นปลาที่ว่ายอยู่กลางน้ำ หรือปลาที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นท้องทะเล เขากินได้ตั้งแต่ปลาทูน่าจนถึงปลานกแก้ว บางครั้งเมื่อไม่มีอะไรกินจริงๆ เจ้าครีบเงินก็เล่นปลาปั๊กเป้าหรือหมึกยักษ์แก้เลี่ยนเหมือนกัน จากการผ่าท้องฉลามครีบเงินที่ถูกจับได้โดยเรือประมงลำหนึ่ง เราพบว่าร้อยละ 70 ของอาหารเขาเป็นปลาเล็กปลาน้อย ตั้งแต่ปลาลิ้นหมาไปยันปลาบิน ร้อยละ 10 เป็นปลากระเบนนก ร้อยละ 10 เป็นหมึกยักษ์ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นอาหารที่ย่อยเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลดังกล่าวช่วยยืนยันว่าปลาชนิดนี้กินได้ไม่เลือก ไม่ว่าเหยื่อเขาจะเป็นสัตว์หน้าดินหรือผิวน้ำ ที่สำคัญคือเขามีความเร็วชนิดสุดๆ ลองคิดดูก็ได้ครับว่าสัตว์ที่มีความเร็วขนาดกินปลาบินได้นั้น จะมีเหยื่อตัวใดในทะเลหนีรอด ฉลามครีบเงินเป็นปลารักถิ่น ฝรั่งเขาลองติดเครื่องหมายแล้วตามจับ พบว่าส่วนใหญ่ฉลามพันธุ์นี้จะอยู่อาศัยในถิ่นเดิม เรียกว่าหากินในระยะไม่เกิน 2-5 กิโลเมตรจากบริเวณที่พบ อันนี้แตกต่างจากฉลามบางพันธุ์ เช่น ฉลามสีเงิน (Blue shark) จับติดเครื่องหมายที่เกาะทัสมาเนียใต้สุดทวีปออสเตรเลีย ปรากฎว่าจับพวกเขาได้ที่บริเวณเกาะชวา ห่างจากถิ่นฐานที่อยู่อาศัยเดิมหลายพันกิโลเมตร ถึงตรงนี้คุณคงเริ่มสงสัยว่าทำไมผมถึงตั้งสมญานามให้เขาว่าเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ใช่เพราะฉลามตัวผู้จะคอยว่ายตามฉลามตัวเมียนะครับ แต่จากประสบการณ์ของตัวเอง ที่เคยเห็นฉลามครีบเงินว่ายน้ำอย่างเสรีในธรรมชาติ เคยเห็นพวกเขาเข้ามากินอาหารในช่วง Shark feeding ผมมีความเห็นตรงกับนักดำน้ำส่วนใหญ่ นั่นคือรูปโฉมของเขา ลีลาการว่ายน้ำและการเข้ามาหาอาหาร มันเท่ห์มากครับ ฉลามหลายชนิดเมื่อเจอเราแล้วจะว่ายหนี เช่น ฉลามหูดำ ฉลามหูขาว ฉลามบางชนิด เช่น เจ้าขี้เซา เจ้าเสือดาวเจอคนจะไม่สนใจ ข้าพเจ้าจะนอนซะอย่างใครจะทำไม แต่ฉลามครีบเงินไม่ทำเช่นนั้น เขาจะว่ายไปรอบๆ ทิ้งระยะห่างพอควร คุณลองคิดภาพดูก็ได้ ในยามที่คุณอยู่ใต้น้ำมีฉลามว่ายตีวงอยู่รอบคุณตลอดเวลานั้นเป็นอย่างไร สาวๆ หลายคนเมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้วคงวี้ดว้ายกันน่าดู แต่กับพวกเราเหล่านักดำน้ำชายหญิงมันเป็นความสะใจความตื่นเต้น และเป็นอะไรที่เรียกร้องให้พวกเรากลับไปสู่โลกสีครามอยู่เสมอเล่ากันมาถึงตรงนี้ หลายคนที่สนใจอยากไปเผชิญกับสุภาพบุรุษแห่งท้องทะเลคงตื่นเต้นเสียเต็มประดา โอกาสที่เราเข้าป่าไปหาเสือให้ใจระทึกนั้นหมดไปจากเมืองไทยแล้ว แต่คุณยังมีโอกาสเจอฉลามว่ายวนรอบตัวอยู่ อย่างแรกคุณคงต้องเริ่มซื้อหมูออมสินครับ จากนั้นติดต่อไปทาง GeoGang ขอเรียนดำน้ำกับคุณสกลพรรณ หลังจากนั้นก็ลองไปดำน้ำหาดู หากดำไปแล้วหลายสิบไดฟ์ยังไม่ได้เจอเขาเสียที แนะนำเลยว่าลองหาหมูออมสินตัวใหญ่ขึ้นแถมลูกหมูอีกสักครอกน่าจะดี เสร็จแล้วติดต่อบริษัท Dive Master เพื่อไปท่องทะเลพม่า ผมรับรองว่าคุณต้องได้เห็นเจ้าครีบเงินแน่นอน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโชค ผมไปมาแล้วกลับมาแล้วและยังคงฝันถึงฉลามครีบเงินฝูงนั้น Silvertip Bank ไม่แน่ว่าทริปหน้าเราอาจได้เจอบนเรือก็ได้ครับ เพราะตอนนี้ผมกำลังพยายามขุนหมูออมสินตัวใหม่อยู่อย่างขมักเขม้นสำหรับคุณที่สงสัยว่าหากเจอฉลามครีบเงินแล้วเขาจะเข้ามาทำร้ายหรือเปล่า จากข้อมูลที่มีบอกว่าฉลามพันธุ์นี้ไม่จู่โจมคน ยกเว้นในช่วงเวลาที่มันกินอาหารอย่างบ้าคลั่ง (Feeding frenzy) ในช่วงเวลานี้ฉลามไม่แยกแยะหรอกครับว่าเป็นปลาหรือเป็นคุณ แต่โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวยากเหลือเกินเท่าที่ผมค้นมาพบว่ามีเพียงสองรายจาก Micronesia และ New Guinea หวังว่าคงไม่มีรายที่ 3 เกิดในเมืองไทยนะครับสิ่งหนึ่งที่ฉลามครีบเงินแตกต่างจากฉลามทั้งสองชนิดที่ผมกล่าวมา คือฉลามพันธุ์นี้มีระบบสัมผัสที่ไวต่อคลื่นเสียงมาก เสียงที่ว่านี่เป็นเสียงโทนต่ำอาทิเสียงเครื่องเรือเป็นต้น แต่คุณไม่ต้องสงสัยว่าทำไมไปนั่งเรือหางแถวสิมิลันแล้วไม่เห็นมีฉลามครีบเงินโผล่มาให้ดูสักตัว ฉลามแถวนั้นชาชินกับเสียงเหล่านี้แล้ว โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นต้องเป็นหมู่เกาะห่างไกลไม่ค่อยมีเรือหรือคนไปเยืยน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น